โครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา โรงเรียนบ้านพระนอน อ.แม่ริม
โรงเรียนบ้านพระนอนโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมต้นแบบของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นโรงเรียนโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School)
ในการพัฒนาสถานศึกษา ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของ กลุ่มเซ็นทรัล
โดยได้เข้ามาสนับสนุนเรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ สนับสนุนงบประมาณการจัดสร้างโครงการ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตามศาสตร์พระราชา (โคก หนอง นาโมเดล) และการพัฒนาครู
โดยได้รับความร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้จาก ผู้ทรงคุณวุฒิ คณาจารย์ นักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาร่วมกันออกแบบและเป็นที่ปรึกษา ศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายการศึกษาในจังหวัดภาคเหนือ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาสถานศึกษา ชุมชน ผลิตภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม การสร้างงานสร้างอาชีพแก่คนพิการ วัฒนธรรมและความสงบสุขอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนการทำงานปรับปรุงพื้นที่จาก กองพันพัฒนาที่3 กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 ชุมชนดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และเครือข่ายโรงเรียนต่างๆในจ.เชียงใหม่ ที่ร่วมมือร่วมใจกันสร้างศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ให้มีประสิทธิภาพ
โรงเรียนบ้านพระนอน:
จัดการเรียนการสอนให้เด็กชาติพันธุ์ซึ่งเป็นบุตรหลานของผู้ใช้แรงงาน เด็กนักเรียนกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ด้อยโอกาสทางสังคม ขาดทักษะการสื่อสาร ขาดทักษะชีวิตทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมดังนั้นโอกาสเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไปจะมีน้อย ถ้าจัดการเรียนการสอนแบบปกติตามแบบโรงเรียนทั่วไปนักเรียนจะไม่สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้จะกลายเป็นปัญหาแรงงานไร้ฝีมือและเป็นปัญหาของสังคมต่อไป
Active Learning การจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ:
โรงเรียนบ้านพระนอนจึงพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนรู้เชิงรุกที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learning) เป็นการเรียนการสอนแบบการบูรณาการข้ามศาสตร์ สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนโดยปรับกระบวนการการเรียนรู้ต่อผู้เรียน ได้แก่ ในช่วงเช้าของทุกวัน จะเรียนวิชาสามัญ แต่ในช่วงบ่ายของทุกวัน จะเป็นการเรียนการสอนแบบ การบูรณาการข้ามศาสตร์ได้แก่ วันจันทร์ เป็นวิชาโลกของการทำงาน วันอังคารเป็นวิชาสุนทรียภาพ ทางอารมณ์ ดนตรี ศิลปะ วันพุธเป็น วิชาสุขภาพกาย กีฬาและนันทนาการ วันพฤหัสบดี เป็นวิชาพลเมืองโลก รักตนเอง รักเพื่อนมนุษย์ รักษ์สิ่งแวดล้อม วันศุกร์ วิชาศีลธรรมนำใจ ใฝ่สัมฤทธิ์ จิตสาธารณะ
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา:
นอกจากนี้มีการจัดสร้างเป็นโครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งผลิตอาหาร (Food Bank) ให้แก่นักเรียนและชุมชน โดยนำบริบทพื้นที่สังคมเมือง ซึ่งมีพื้นที่จำกัดมาออกแบบ และจัดการเรียนรู้เป็นฐานต่างๆ 11 ฐาน ได้แก่ การจัดการความรู้ : ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ, ฐานห่มดิน, ฐานปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, ฐานสร้างฝายชะลอน้ำ, ฐานคันนาทองคำ, ฐานปุ๋ยน้ำหมัก 7 รส, ฐานปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ, ฐานคนมีน้ำยา, ฐานคนรักษ์สุขภาพ, ฐานคนมีไฟ, ฐานปลูกผักในแปลงแบบผ่าท้องช้าง และฐานคนเอาถ่าน เพื่อให้นักเรียน ชุมชน และบุคลทั่วไปได้มาศึกษาเรียนรู้