ศูนย์การเรียนรู้ทอผ้าย้อมครามและสีธรรมชาติบ้านกุดจิก

ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสาน

สู่สินค้าแฟชั่นที่ดังไกลระดับอินเตอร์

เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนควบคู่กับสิ่งแวดล้อมสีเขียวให้กับชุมชน

วิสาหกิจชุมชนทอผ้าแปรรูปบ้านกุดจิก หมู่ 9 อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เดิมโดดเด่นเรื่องการทอผ้าย้อมคราม

โดยคนในชุมชนรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย ปลูกคราม ย้อมสี ทอผ้า มีการร่วมไม้ร่วมมือกันในชุมชนตามความถนัดของแต่ละบ้าน จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสีสัน ลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ ประณีตและพิถีพิถัน ที่แฝงไปด้วยเสน่ห์และความเอาใจใส่ของชาวกลุ่มทอผ้าในชุมชนบ้านกุดจิก

ในปี 2563 เซ็นทรัล ทำ เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านกุดจิก ต่อยอดการย้อมครามสู่การย้อมสีธรรมชาติ นำผู้เชี่ยวชาญร่วมฝึกสอนเทคนิคการมัดย้อมชิโบริ เพื่อให้สินค้ามีดีไซน์ที่ร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมให้การสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายรวมถึงด้านอื่นๆ อาทิ ผลิตสินค้ามาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods สนับสนุนพื้นที่การออกบูธในงานจริงใจ มาหา…นคร ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และ จริงใจมาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ และ ในปี 2567 ยังมีการร่วมมือกับ คุณหมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ดีไซน์เนอร์ชื่อดังระดับประเทศ ผู้ก่อตั้งอาซาว่า กรุ๊ป ในการร่วมออกแบบคอลเลกชันพิเศษที่ประยุกต์ใช้เทคนิคมัดย้อม เป็นการคอลแลปส์ระหว่างแบรนด์ good goods x MOO Bangkok ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตลอดจนมีการให้คำปรึกษา สนับสนุนในการสร้างแบรนด์ “เฮือนทอ” ที่เป็นแบรนด์สินค้าของชุมชน ปรับปรุงร้านค้า อาคารสถานที่ โรงย้อมสีธรรมชาติ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจด้านการย้อมครามและสีธรรมชาติ

good goods x MOO Bangkok Special Collaboration Collection

เบื้องหลังการรังสรรค์คอลเลกชันสุดพิเศษที่เกิดจากการทำร่วมกันของ good goods และ คุณหมู-พลพัฒน์ อัศวะประภา ในการผสมผสานอดีตและปัจจุบันเข้าไว้ด้วยกัน โดยหยิบเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย จ.สกลนคร มานำเสนอออกไปในรูปแฟชันไอเทมแบบแคชชวล เข้าถึงง่าย สวมใส่ได้ทุกวัน จนออกมาเป็นสินค้าไทยดีไซน์ร่วมสมัยให้คุณเลือกช้อปกันแล้ววันนี้

มากไปกว่านั้นยังมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร พัฒนาโครงการ “ป่าให้สี” ซึ่งเป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้ และอนุรักษ์พันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ เป็นแหล่งวัตถุดิบธรรมชาติสำหรับใช้ในการย้อมสีของชาวกลุ่มทอผ้าบ้านกุดจิก โดยมีการสำรวจ วิจัย ต้นไม้ภายในป่าของชุมชนจำนวน 18 ไร่ ศึกษาสีย้อมที่ได้จากพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ กว่า 20 สายพันธุ์ ที่ให้สีมากกว่า 8 เฉดสี อาทิ เหลือง ชมพู เขียว ส้ม น้ำเงิน ม่วง แดง และน้ำตาล มีการเก็บข้อมูล ระบุพิกัดตำแหน่ง ติดรหัส และทำ QR Code รวบรวบข้อมูลการให้สีของพันธุ์ไม้ และมีการศึกษาต่อเนื่องในด้านการขยายพันธุ์ไม้ในพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อประโยชน์ของชุมชนและการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมทั้งมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพของสี บูรณาการความรู้เพื่อบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม โดยจะมีการนำใบไม้และเปลือกไม้ที่เหลือจากกระบวนการผลิตนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์และกระดาษสาในลำดับถัดไป

เซ็นทรัล ทำ ยังช่วยพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน จัดทำป้ายแผนที่ให้ความรู้ จัดกิจกรรมเวิร์กชอปการมัดย้อมสีธรรมชาติ เรียนรู้วัฒนธรรมวิถีภูไท ทานอาหารท้องถิ่น ชมป่าให้สี แวะชิมข้าวฮาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวอีสาน ที่จะได้ร่วมสัมผัสตั้งแต่กระบวนการผลิตตลอดจนการแปรรูป โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้ ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน